4999 จำนวนผู้เข้าชม |
โคมมะเต้า (โคมหม่าเต้า) มรดกทางวัฒนธรรมของชาวน่าน ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเสริมสิริมงคล ปัจจุบันได้นำโคมมาใช้หลายอย่าง ทั้งตกแต่งตามวัดวาอาราม ตามบ้านเรือน ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โคมทั่วไปมี 4 ประเภท คือ โคมถือหรือโคมหูกระต่าย, โคมลอย, โคมแขวน, โคมตั้ง
สำหรับโคมมะเต้า (โคมหม่าเต้า) นั้นจัดเป็นโคมแขวน หรือเรียกอีกอย่างว่า โคมธรรมจักร หมายถึงความรู้แจ้งในธรรม ลักษณะเป็นมุมเหลี่ยม รูปทรงกลมเหมือนมะเต้าหรือแตงโม ลวดลายที่ใช้ในการตกแต่ง คือลายประจำยาม มาจากคำว่า วัชระ เชื่อว่าเป็นอาวุธของพระอินทร์ ใช้ขับไล่สิ่งชั่วร้ายปกป้องคุ้มครองได้ ยังมีลายต่างๆ อีก เช่น นักษัตร ลายกระต่าย ประดับทั้ง 4 ด้าน จึงเชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งไม่ได้ดีได้ทั้ง 4 ทิศ สำหรับการทำโคมหม่าเต้าโคมมะเต้า (โคมหม่าเต้า) ว่ากันว่า คู่รักที่ทำด้วยกันจะรักกันยิ่งขึ้นไปอีก เปรียบเสมือนการทำเครื่องส่องสว่างนำทางให้กับความรักของทั้งคู่สดใสราบรื่นปลอดภัยจากอุปสรรคต่าง ๆ
สำหรับบ้านโคมคำแหล่งเรียนรู้การทำโคมมะเต้า (โคมหม่าเต้า) นั้น นับกิจกรรมชุมชนตำบลม่วงตึ๊ด ที่สอนตั้งแต่ขั้นตอนแรกการเหลาไม้ขึ้นโครง แปะกระดาษสา พร้อมทั้งตกแต่งด้วยกระดาษสีทอง จนขั้นตอนสุดท้าย คือพาไปถวายที่วัดพระธาตุแช่แห้ง กิจกรรมนี้เป็นที่ได้รับความสนใจทั้งจากคู่รัก ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือนำไปเป็นของฝาก ของประดับบ้านเรือนก็นับว่าเป็นของกำนัลที่ทรงคุณค่าอีกชิ้นหนึ่งของเมืองน่าน