2082 จำนวนผู้เข้าชม |
จังหวัดน่าน นำโดยนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านและภาคีเครือข่าย ได้จัดการประชุมนานาชาติเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งที่ 1 (UNESCO Creative Cities Network) UCCN Symposium for Tribal Crafts and Folk Arts เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมน่านบูติค โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดน่าน
นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน มอบหมายให้นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นผู้แทนในการเปิดประชุมนานาชาติฯ กล่าวว่า ตาม วิสัยทัศน์จังหวัดน่าน “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่ง ชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน” น่าน มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีเสน่ห์ทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตในเมืองเก่ารวมถึงวัฒนธรรมและงานศิลปะหัตถกรรมชาติพันธุ์ มีชุมชนที่ร่วมกันอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมอันงดงามของน่านอย่างเข้มแข็งและเป็นธรรมชาติ แม้เราจะมีหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองน่าน และริเริ่มขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UCCN) นั้น ทำให้ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี ที่ผ่านมาเรามุ่งหวังจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งตรงกับเป้าหมายการพัฒนาเมืองน่านด้วยเช่นกัน ทั้งในด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์และเผยแพร่ผลงานทางศิลปะวัฒนธรรม ให้ทั้งชุมชนและผู้ประกอบการในเมืองน่านได้เริ่มสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะบุคลากรด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย ประเภทใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะสม เพื่อการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่อยอดจากศิลปะวัฒนธรรมของน่านให้เกิดมาตรฐานระดับสากล เพราะเหตุนี้ เราจึงกำลังพยายามผสานความร่วมมือกับเมืองต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกับเป็นเครือข่ายแบบ Co-benefit ให้มากยิ่งขึ้น
โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการและร่วมขับเคลื่อนจาก รศ.ดร.วิติยา ปิดตังนาโพธิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นผู้ท่านเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยได้ศึกษาและกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองมาเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมการพัฒนาเมืองอย่างรอบด้านที่ตอบทั้งเป้าหมายของเมืองสร้างสรรค์เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1: การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านการสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 3: การสร้างโอกาสและการเรียนรู้ อย่างเท่าเทียมทางสังคมยุทธศาสตร์ที่ 4: การสืบสานและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ยุทธศาสตร์ที่ 5: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเมืองสร้างสรรค์น่าน ยุทธศาสตร์ที่ 6: การสื่อสารและพัฒนาเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยริเริ่มกิจกรรมโครงการในเมืองน่าน ภายใต้การกำหนดกรอบแนวคิด หรือ ธีมงาน ไว้เป็น 3 ประเด็น คือ งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่านที่เชื่อมโยงกับ 3 มิติ อันได้แก่
1.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงสายน้ำ
2.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงวัฒนธรรม
3.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงเกษตรกรรม
นางศุภรดา กานดิศยากุล ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า อพท. ได้ส่งเสริมและพัฒนาเมืองน่าน ให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมทั้งด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยมีการส่งเสริม และต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ผลงานใหม่ๆ ตามแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกและเพื่อให้ได้เห็นภาพการดำเนินงานอย่างจริงจังและรับทราบถึงศิลปะวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทางด้านภูมิปัญญาต่างๆ ที่สืบทอดมายาวนาน โดยการจัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งที่ 1 (UNESCO Creative Cities Network) UCCN Symposium for Tribal Crafts and Folk Arts ครั้งที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทั่วโลกได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเมือง อาทิ เมืองจินจู ประเทศเกาหลีใต้ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เมือง Ambon ประเทศอินโดนีเซีย เมือง Paducah ประเทศสหรัฐอเมริกา เมือง Weifang ประเทศจีน และเมือง York ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ทั้ง 5 เมือง ในประเทศไทยได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพฯ และเพชรบุรี เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยเมืองน่าน ซึ่งเป็นเมืองเตรียมความพร้อมที่จะสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ได้มีโอกาสนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ตลอดจนได้เผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญา ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่า ให้แก่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลกให้ได้รู้จักมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหาร อพท. จากสำนักงานพื้นที่พิเศษอื่นๆ อาทิเช่น พันเอกนาวิน ปรีชาพณิชยกุล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 นายวีรวิทย์ ฉันทวรางค์ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 นายสมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 และนายสมเกียรติ อำนวยสุวรรณ เข้าร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น อีกด้วย
ทั้งนี้ หากท่านต้องการข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมต่างๆ ได้ที่ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 (อพท.) เลขที่ 241 หมู่ 8 บ้านดอนสวรรค์ ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน น่าน 55000 โทรศัพท์ 054-718-680 – 2 โทรสาร 054-719-681 ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ nancreativecity.team@gmail.com เว็บไชต์ https://www.nancreativecity.org