2172 จำนวนผู้เข้าชม |
อพท.6 จัดกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ย่านสร้างสรรค์ชุมชนหัวเวียงใต้ ตรอกศิลปะและงานหัตถกรรมท้องถิ่นน่าน "กาดกองน้อย"
สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ร่วมกับ ชุมชนย่านหัวเวียงใต้ เครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการ พัฒนาพื้นที่ชุมชนย่านหัวเวียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งการค้าเก่าที่สำคัญของจังหวัดน่าน และมีความหลากหลายของวัฒนธรรมในพื้นที่ให้เป็น “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างโอกาสให้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยปลุกย่านชุมชนหัวเวียงใต้ให้มีชีวิต ด้วยความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นการพัฒนาจุดเล็กๆ ที่สำคัญหนึ่งใน แนวทางพัฒนาที่จะส่งเสริมขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก
สำหรับการจัดกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ย่านสร้างสรรค์ชุมชนหัวเวียงใต้ ผ่านการจัดตรอกศิลปะและงานหัตถกรรมท้องถิ่นน่าน “กาดกองน้อย” ซึ่งชุมชนย่านหัวเวียงใต้ในวันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดย่านสร้างสรรค์ “หัวเวียงใต้” โดยรื้อฟื้น “กาดกองน้อย” ให้กลับมาคึกครื้นอีกครั้ง โดยปรับรูปแบบให้กลายเป็นถนนศิลปะและงานหัตถกรรมท้องถิ่นน่าน ซึ่งชุมชนย่านหัวเวียงใต้จะมีการต่อยอดขยายผล ดำเนินการต่อเพื่อเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รวบรวมผู้ประกอบการด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านในจังหวัดน่าน ภายใต้เครือข่าย “กลุ่มน่านโฮ๊ะคร๊าฟ (Nan Ho Crafts)” และรวบรวมผลิตภัณฑ์ ไอเดียสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ ผลลัพธ์จากการต่อยอดสินทรัพย์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นน่าน สู่ ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ บอกเล่าความเป็นเอกลักษณ์ของน่าน (Identity of Nan) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง อพท. กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการนำเสนอผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) จำนวน 26 ตำบลในพื้นที่จังหวัดน่าน ภายใต้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยพื้นที่นี้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างบรรยากาศของเมืองสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ศิลปิน ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดน่านได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน และนำเสนอขายสินค้าหัตถกรรม ท้องถิ่น เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่านและหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาให้เมืองน่านก้าวสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกต่อไป