2760 จำนวนผู้เข้าชม |
ลวดลายปูนปั้นที่ปรากฏบนอาคารศาสนสถาน
1. ลายเครือดอก (ลายพันธุ์พฤกษา) เป็นลวดลายประดับตกแต่งมักพบเป็นลวดลายประเภทดอกดวงต่างๆ ที่เลียนแบบจากธรรมชาติและเกิดจากการดัดแปลงประยุกต์ลวดลายประดิษฐ์ ซึ่งในการสร้างงานตกแต่งบนพื้นที่ว่างในงานศิลปกรรมทั้งประเภทสถาปัตยกรรม ตลอดจนเครื่องใช้ในพิธีกรรมที่มีการออกแบบตามเรื่องราวในคติความเชื่อทางศาสนา หรืออาจมีการใช้กำหนดสัญลักษณ์ในทางปรัชญาเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับลายเครือดอกที่พบในล้านนามีปรากฏถึงพัฒนาการรูปแบบมาแต่ละยุคสมัยที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนลวดลายเครือดอกที่ปรากฏในงานศิลปกรรมเมืองน่าน โดยคาดว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดคงจะเป็นปูนปั้นประดับซุ้มโขงขนาดเล็กที่เรียกว่า “อูบมุง” ที่เชื่อว่าสร้างอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านนาผนวกเอาเมืองน่านเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแล้ว โดยมีลักษณะของลวดลายที่ยกลอยตัวนูนสูง มีมิติที่สวยงาม และคมชัด ส่วนในยุคหลังนั้นฝีมือมีลักษณะที่แตกต่างไปจากช่วงสมัยยุคทองของล้านนา คือมีรูปแบบไม่ละเอียด และขาดความคมชัด ตลอดจนมิติของลวดลายยกตัวนูนสูงไม่มาก โดยมักพบในการสร้างใน
ยุคช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23-24 ได้แก่ งานปูนปั้นประดับแท่นแก้วพระประธานวัดพระธาตุแช่แห้ง
ฐานแท่นแก้ววัดภูมินทร์ เสาวิหารวัดบุญยืน
2.ลายสัตว์
2.1 มอม ปรากฏในศิลปกรรมเมืองน่าน พบเป็นงานปูนปั้นปิดทองประดับที่กรอบหน้าบันที่ซุ้มโขงพระประธานวัดพญาวัด โดยมีลักษณะของการวางตัวภาพไล่วนกันอยู่สองตัว สำหรับที่วัดพญาภูเป็นการออกแบบให้มอมสามตัวไล่คาบหางกันอยู่ในกรอบรูปทรงวงกลม
อีกแห่งหนึ่งพบเป็นภาพปูนปั้นประดับสัตภัณฑ์หรือบันไดแก้วเชิงเทียนวัดร้องแงและงานปูนปั้นของฐานชุกชีพระประธานภายในวัดพระธาตุแช่แห้ง
2.2 นาค ปรากฏในงานศิลปกรรมเมืองน่าน ที่มีลักษณะโดดเด่น ได้แก่ นาคปูนปั้นประดับแท่นแก้วพระประธานวัดหนองแดง วัดต้นแหลง วัดสวนตาล และวัดหัวข่วง
ซึ่งทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นแบบสกุลช่างไทลื้อที่มีความสัมพันธ์กับท้องถิ่นเมืองน่านมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้นาคที่แสดงถึงศิลปกรรมเมืองน่านที่แตกต่างไปจากน่านในศิลปกรรมแหล่งอื่น ๆ คือ นาคปูนปั้นที่ทอดตัวรองรับอุโบสถวัดภูมินทร์ และนาคสองตัวที่ทอดลำตัวเชื่อมเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ของบริเวณ
วัดพระธาตุแช่แห้ง