งานฉลุกระดาษ

4612 จำนวนผู้เข้าชม  | 

งานฉลุกระดาษ

กระดาษ และฉลุ
งานกระดาษในจังหวัดน่าน เป็นงานหัตถกรรมที่นำมาใช้สำหรับงานประเพณี พิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่ และถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน รวมถึงปัจจุบันได้นำงานกระดาษเป็นงานหัตถกรรมใช้สำหรับตกแต่งบริเวณ อาคาร สถานที่ เพื่อให้เกิดความสวยงามของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีประเภทงานกระดาษในจังหวัดน่าน ดังนี้

กระดาษสา
กระดาษสาเป็นกระดาษพื้นเมืองที่ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นกระดาษที่ได้จากเยื่อของต้นสานำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำสมุดบันทึก เรียกว่า พับสา สำหรับใช้จดบันทึกบทสวดมนต์ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและตำราต่างๆ นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในงานศิลปกรรมพื้นถิ่นต่างๆ อาทิ โคมบูชา ตุง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ฯลฯ

ตุงค่าคิง 
ตุงค่าคิง เป็นงานหัตถกรรมประเภทหนึ่งที่มีความโดดเด่นของชุมชนวัดพระเกิด ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน เป็นตุงที่ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาชีวิต ตามความเชื่อของคนล้านนาที่ว่า ตุงเป็นเป็นบันไดไปสู่สวรรค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาโดยเชื่อว่าการนำตุงไปถวายพระจะทำให้ผู้วายชนม์ได้ใช้ปีนตุงเพื่อให้พ้นจากเคราะห์กรรมที่เคยทำมา รวมไปถึงการใช้สะเดาะเคราะห์ สืบชะตาให้มีชีวิตที่ยืนยาว

การทำตุงค่าคิง เป็นตุงที่มีรูปร่างยาวแคบ ผืนตุงนิยมทำด้วยกระดาษสาสีขาว จะใช้กระดาษที่ตัดแบ่งเป็นรูปเทวดาให้มีขนาดความสูงเท่ากับตัวของผู้ที่จะนำไปถวายหรือมีลักษณะที่แตกต่างเฉพาะตามตัวบุคคลนั้นๆ ฉลุกระดาษให้เป็นลวดลายที่งดงามด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง หรือเป็นแบบต้อง (สลัก) กระดาษสา และติดรูปปีนักษัตรประจำปีเกิดของผู้จะนำไปถวายลงไปในตุงค่าคิงด้วย แล้วนำไปถวายวัดเพื่อเป็นสิริมงคลตามความเชื่อให้มีชีวิตยืนยาว

โคม หรือโคมล้านนา เป็นงานหัตถกรรมประเภทหนึ่งที่มีการผลิตและใช้งานอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงความนิยมชมชอบของคนในแต่ละพื้นที่ หรือเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา ปัจจุบันคนล้านนานิยมนำมาใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะงานประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) โดยการจุดเทียนและผางประทีปเพื่อเป็นการสักการะบูชาพระพุทธเจ้า โดยมีความเชื่อว่าแสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้การดำเนินชีวิตสว่างไสว เจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุขไปตลอด 

โคมของเมืองน่าน โดยทั่วไปมีรูปแบบและการใช้งานคล้ายกับโคมล้านนาทั่วไป แต่ด้วยช่างฝีมือท้องถิ่นได้รังสรรค์หรือประยุกต์ให้เกิดเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของเมืองน่าน โดยการบอกเล่าของ พระปลัดวิษณุ ญาณเมธี พระวัดเจดีย์ ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่กล่าวว่าได้รับการถ่ายทอดรูปแบบการทำโคมลักษณะนี้มาจากผู้เฒ่าผู้แก่จากอำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยลักษณะของโคมประเภทนี้มีโครงสร้างหลักที่ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นเส้น และขดให้เป็นวงกลมใช้เป็นหน้าโคม ปากโคมทั้ง 4 มุมจะเพิ่มเสาไม้ไผ่ และนำตุงไส้หมูห้อยที่ปลายเสา ส่วนท้ายโคมตัดกระดาษเป็นเส้นประดับตกแต่งจนทั่ว จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่นที่หาผู้สืบทอดได้ยากในปัจจุบัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้